วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรงเรียนแห่งแรกของเด็ก

โรงเรียนที่สำคัญแห่งแรกของลูกคือครอบครัว ความรักเป็นสิ่งที่ลูกทุกคนต้องการ และเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ ลูกพร้อมที่จะเรียนรู้เมื่อสัมผัสได้ว่าได้รับความรักอย่างเต็มที่ เมื่อมีความรัก ความไว้วางใจ ความเข้าใจ การพูดคุยอย่างเปิดเผยก็จะตามมา พ่อแม่ควรสร้างแบบแผนการเลี้ยงลูกอย่างเป็นกันเอง ที่ไม่ใช่แบบพ่อแม่บังคับ หรือแบบตามใจให้ลูกมีอิทธิพลเหนือตนเอง พ่อแม่คือแบบอย่างที่ลูกสัมผัส รับรู้อยู่ทุกวัน อย่าลืมว่าทุกคำพูด การกระทำทุกอย่างลูกเรียนรู้มาจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นผู้ชี้นำความหวัง ความปรารถนาดีที่ตนเองมีต่อลูก ลูกเรียนรู้ว่าพ่อแม่มีความหวังและความปรารถนาดีอะไรกับเรา ลูกก็จะพยายามทำสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความหวังและความปรารถนาดีของพ่อแม่ สิ่งที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึงในการเลี้ยงดูลูกที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีในหลักสูตรผู้ปกครอง ที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึง คือ จิตวิทยามนุษย์ ดังนี้ จิตวิทยามนุษย์ *ไม่ใช้การเปรียบเทียบ เช่น เปรียบเทียบว่าลูกคนอื่นเก่งกว่าลูกตนเอง บอกลูกว่าได้คะแนนน้อยหรือมากกว่าคนอื่น เปรียบเทียบน้องกับพี่ ซึ่งการเปรียบเทียบเป็นบ่อเกิดของความอิจฉา *ไม่ใช้คำพูดด้านลบ เช่น คำด่า คำปรามาส คำสบถ คำหยาบ *ไม่หลอกให้กลัว เช่น บอกว่าถ้าไม่ทำตำรวจจะมาจับ หลอกว่าเดี๋ยวผีจะมา *ไม่ใช้ความรุนแรง เช่น ลงโทษโดยการตี การใช้กำลังต่างๆ แต่ลงโทษด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ *ลดการให้ลูกเรียนรู้เกินวัย ไม่ว่าโรงเรียนจะพยายามพัฒนาเด็กอย่างไร ถ้าครอบครัวไม่ให้ความใส่ใจในการพัฒนาลูกของตน ปล่อยปละละเลยแม้เพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆ ไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาลูกในด้านต่างๆ ร่วมกับโรงเรียน ชีวิตทั้งชีวิตของลูกเราจะเป็นอย่างไร ดังนั้น โรงเรียนแห่งแรกของลูกเราคือครอบครัวซึ่งพ่อแม่จะต้องเป็นเบ้าหลอมชีวิตและพัฒนาลูกให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดในแบบอย่างที่เขาควรจะเป็น ความไว้วางใจในครอบครัว พ่อแม่ต้องเชื่อว่าลูกทำได้และรู้จักลูกให้ดีทุกแง่มุม และให้โอกาสเขาแสดงในสิ่งที่เขาเป็น เลือกในสิ่งที่เขาเลือก บางครั้งพ่อแม่ก็อยู่ห่างๆ ลูกบ้าง ให้ลูกมีอิสระ แน่นอนเมื่อลูกทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรพ่อแม่ก็ต้องบอกต้องสอน และมีข้อตกลงร่วมกัน เช่น เวลาเล่นควรจะเป็นเวลาไหนบ้าง งานที่ต้องรับผิดชอบต้องทำอะไรบ้าง ถ้าทำไม่เสร็จจะมีผลต่อตัวเขาอย่างไร และควรให้ลูกได้รับความลำบากบ้าง ได้รับบทเรียนที่หนัก ได้ทำงานหนัก ถ้าจะให้ดี ให้เขามีโอกาสในการหาเงินเป็นค่าขนม และสนับสนุนเขาเต็มที่ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสมองส่วนที่ต้องเอาตัวรอด ถ้าหิวก็จะต้องหาของมากินเพื่อความอยู่รอด และมนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่เป็นกลุ่ม ดังนั้นเวลาที่เด็กไปอยู่ที่อื่นที่ห่างจากพ่อแม่เขาก็จะเรียนรู้ที่จะหากินได้ เรียนรู้ที่จะเข้ากับคนอื่น เรียนรู้ที่จะมีเพื่อนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พ่อแม่ไปต้องห่วงเลยเมื่อเขาออกจากอ้อมอกเขาแล้ว พ่อแม่ไม่สามารถที่จะตามไปดูแลเขาได้ในทุกที่ สักวันหนึ่งเขาต้องไปจากเรา หรือเราอาจจะได้ไปจากเขาก่อน ดังนั้น ภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งที่เราควรสร้างคือความไว้วางใจ และให้โอกาสเขาต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เขาได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง อาจดุด่าเฆี่ยนตีลูกโดยไม่ใช้เหตุผลอธิบาย หรือพ่อแม่ทะเลาะกันให้ลูกเห็น ลูกอาจจะมีปมบางอย่างที่แก้ไขได้ยาก และอาจมีผลต่อเขาในอนาคตได้ พระเอกนางเอกของลูกคือพ่อแม่ เพราะลูกเห็นพ่อแม่เป็นคนแรก ลูกเรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่เป็น แนวความคิด วาจา การพูด ท่าที ทุกสิ่งทุกอย่างลูกเรียนรู้มาจากพ่อแม่ ลูกซึมซับจากพ่อแม่มากถึง 90 % จะกล่าวตัวอย่างง่ายๆ เช่น พ่อแม่เป็นคนพูดน้อย ลูกก็เป็นคนพูดน้อยด้วย พ่อแม่เป็นคนพูดสนุกสนาน อารมณ์ดี ลูกก็จะซึมซับสิ่งนั้นมาจากพ่อแม่ หรือพ่อแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ โมโหง่าย ลูกเราก็จะเป็นแบบนั้นด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าพ่อกับแม่จึงเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญสำหรับลูก เป็นพระเอกนางเอกที่ลูกจะเอาแบบอย่างและเรียนรู้ด้วย ดังนั้น พ่อแม่ต้องตระหนักเสมอว่าเราเป็นอย่างไร ลูกเราก็จะเป็นอย่างนั้น พ่อแม่ต้องสร้างเสริมเพิ่มเติมสนับสนุนให้กับลูก อย่างที่กล่าวแล้วว่าพ่อแม่เป็นพระเอกนางเอกของลูก ดังนั้นลูกจะซึมซับ เรียนรู้สิ่งที่พ่อแม่เป็น แต่ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างคือ พ่อแม่ต้องคิดที่จะส่งเสริมสนับสนุนสิ่งที่ลูกควรจะได้รับการสนับสนุนตามความเหมาะสมและเป็นไปในทางสร้างสรรค์ เช่น ลูกอยากเรียนดนตรี และเราสามารถสร้างโอกาสนั้นได้ก็ควรจะเปิดโอกาสให้เขาได้เรียน เพราะถ้าเกิดจากความอยากของลูก เขาจะทำได้ดี พ่อแม่ควรหาจังหวะและโอกาสที่จะถามลูกว่าลูกอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หรือช่วยแนะนำลูก ถ้าลูกเห็นว่าสิ่งที่พ่อแม่แนะนำนั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวเขา แล้วเขาอยากเรียนก็ควรจะส่งเสริม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกิจกรรมที่จะส่งเสริมพัฒนาลูกนั้นต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์ และไม่ใช่การบังคับ พ่อแม่ไม่ลำบากเกินไปที่จะให้ลูกทำกิจกรรมนั้น และต้องเกิดจากความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีตัวอย่างที่การทำกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนนั้นเกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่ ทำให้ลูกเสียความรู้สึกดีๆ ทั้งที่กิจกรรมนั้นไม่เสียหายอะไร มีครั้งหนึ่งที่ตอนอยู่ม.5 เราอยากสอบเอนทรานซ์ แต่เรียนรู้วิชาฟิสิกส์ไม่เข้าใจเลย จึงอยากจะเรียนฟิสิกส์เพิ่มเติม ซึ่งอาจารย์ที่สอนก็เป็นครูในโรงเรียนตนเอง และอาจารย์ก็ไม่ได้คิดเงินอะไรมากมาย แต่แม่ไม่อยากให้เรียนคิดว่าเราเห่อตามเพื่อนเป็นการสิ้นเปลืองเปล่าๆ ซึ่งแม่ก็ไม่เคยถามเลยว่าต้องเสียค่าเรียนเท่าไหร่ และไม่ทำความเข้าใจว่าเรียนเพราะอะไร ทำให้เราต้องถอนตัวเพราะแม่ไม่สนับสนุน และตอนจะสอบนั้นเราก็ไม่สนใจจะอ่านวิชานี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันยากมาก นี่เกิดจากความไม่เข้าใจกันของลูกกับพ่อแม่ ถ้าจะไม่สนับสนุนพ่อแม่ควรถามและบอกเหตุผล จะเป็นการถนอมใจของลูกด้วย พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจจุดด้อยของลูก แน่นอนที่พ่อแม่ต้องรักลูก บางครั้งลูกทำผิดก็ให้อภัยเพราะความความรักที่มีต่อลูก แต่พ่อแม่ควรยอมรับว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีทั้งจุดดี และจุดด้อย พ่อแม่ควรจะเป็นผู้รู้และเข้าใจว่าลูกตนเองมีจุดด้อยอะไรบ้าง และหาวิธีการแก้ไข โดยเฉพาะจุดด้อยของลูกที่มีผลเสียต่อตัวเขาและผู้อื่น เช่น ชอบลักขโมย ชอบโกหก ชอบทะเลาะกับคนอื่น มองเรื่องของตนเองสำคัญมากกว่าเรื่องของคนอื่น เอาแต่ใจตัวเอง และบางอย่างเช่นลูกไม่ถนัดวิชาการแต่ชอบงานศิลปะ พ่อแม่ควรเข้าใจและหาวิธีการแก้ไขพัฒนา ควรคิดกลยุทธ์ที่จะปรับนิสัยของลูก และส่งเสริมลูก ทั้งนี้พ่อแม่ต้องพูดคุยกับครูที่สอนเพื่อหาทางแก้ไขให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันจึงจะได้ผลดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น