วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปฏิบัติแบบเซน 2



(ตามความเห็นส่วนตัว)
ในการเกิดมาของเรา เราอาศัยธรรมชาติ พ่อแม่ การอยู่ การเดิน การนั่ง การนอน การกิน การขับถ่าย เราต้องอาศัยธรรมชาติ และทุกสรรพสิ่งในจักรวาล การที่เรามีกายจึงเป็นสิ่งประเสริฐที่ใจเราจะได้อาศัยอยู่ เราตื่นรู้คือเอาใจไปอยู่กับกาย เบิกบานกับกาย เบิกบานหรือดูอย่างไร ซึ่ง ท่านติช นัท ฮัน ให้อยู่กับลมหายใจ ระลึกกับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกก็มีความสุข การเดิน ให้กำหนดลมหายใจสัมพันธ์กับการก้าวเท้า เช่น หายใจเข้า ก้าวสามก้าว หายใจออกก้าวสี่ก้าว การกินให้ระลึกกับการเคี้ยว ขอบคุณและเบิกบานกับธรรมชาติที่เป็นอาหารที่จะได้เอาไปหล่อเลี้ยงในกายเรา เราคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือเรา คณะนักบวชหรือคณะสังฆะระลึกรู้ว่าทุกคนเป็นเพื่อนกัน(คน สัตว์ พืชพันธุ์ ทรัพยากร) เป็นธรรมชาติเหมือนกัน มีขันธ์ห้า(กายใจ)เหมือนกัน การอยู่ร่วมกันจึงอยู่แบบศานติ สงบฟังกันและกัน ฟังอย่างสงบ และตั้งใจ เมื่อทานอาหารก็ทานรวมกันอย่างเคารพกัน พิธีชาจัดทำเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน และให้ผู้มาเยือนรับรู้ว่า เราเป็นหนึ่งเดียวกัน เรามีกันและกัน เราต้อนรับด้วยความจริงใจ และอยู่กับความเงียบ นอบน้อมต่อธรรมชาติที่บำรุงหล่อเลี้ยงเรา นอบน้อมต่อทุกสรรพสิ่งและผู้มาเยือน เมื่อเราอยู่รวมกัน เรามักจะมีความโกรธและไม่พอใจ เมื่อเราไม่พอใจใครเราก็หายใจเข้าออกระลึกรู้ว่า เราเป็นเหมือนอากาศที่บางเบา ตัวเราก็เบา มีแต่ความว่างเปล่า ดังนั้นความโกรธก็ไม่มีตัวตน การที่เราโกรธเพราะจิตใต้สำนึกที่สั่งสมมา ใจเราอยู่แค่ในระดับความคิด และความจำ ยังไม่ถึงระดับจิตใต้สำนึก เราต้องปรับจิตใต้สำนึกใหม่ ให้ระลึกรู้เสมอว่า ความโกรธ ความไม่พอใจ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องรับเข้ามา มันแสดงถึงความมีตัวตน เราทำความรู้สึกว่าเราเบาดังปุยนุ่น หรืออากาศ หรือน้ำเย็นในทะเลสาปที่สงบ นิ่ง บางเบา จนความโกรธไม่มีอยู่ในใจเรา และเป็นดังภูเขาที่หนักแน่น เพื่อให้รู้ว่ากายเราอยู่ตรงนี้ เราต้องนำใจมาอยู่กับกายอย่างมั่นคง และเสรี เมื่อได้ยินเสียงระฆังทุกครั้ง เราต้องระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก กายมั่นคงดังภูเขา ใจเรากลับบ้าน คือกลับเข้ามาในกาย บ้านคือกาย ดังนั้น ผู้ปฏิบัติแบบเซนที่หมู่บ้านพลัม จะใช้เสียงระฆังเพื่อเรียกสติ ให้อยู่กับลมหายใจ จะทำอะไรก็ตามต้องหยุด เพื่อตามลมหายใจ นี่เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติแบบเซนที่ข้าพเจ้าได้สัมผัส โดยอ้างอิงคำสอนของหลวงปู่ติช นัท ฮัน ที่มีหลักการ สู่การนำไปปฏิบัติของพระเซนและนักปฏิบัติแบบเซน ที่เบิกบานและมีความสุข สงบ ศานติ อยู่กับปัจจุบัน

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ทำให้ได้ก่อน แล้วจึงพูด


คำทุกคำ มีความหมาย ก่อนที่จะพูดควรคิดก่อน ถ้าสื่อไปผิด ก็เสียมากกว่าได้ การเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เราอย่าเพิ่งเข้าใจว่าเราเก่งแล้ว เราทำได้แล้ว ต้องลองทำก่อน ทำให้ได้ก่อน ใช้เวลาทำเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายๆปี แล้วค่อยซึมซับ กลั่นจากใจ แล้วค่อยอธิบาย พูดจากใจด้วยความปรารถนาดี หวังดี ให้เห็นว่าพูดออกมาจากภายในจริงๆ จึงจะน่าเชื่อ น่าฟัง คนฟังก็จะรับรู้อารมณ์จากคนพูด เมื่อคนฟังเห็นความตั้งใจ ก็จะเข้าใจเจตนารมณ์ ความหวังดี ความปรารถนาดี ระวังอย่าพูดเพื่อตนเอง อย่าเห็นแก่ตนเอง ถ้าพูดเอาดีแต่ตัว คิดว่าตัวทำได้ ทำดีแล้ว คนฟังก็จะหมดศรัทธา ไม่อยากจะฟังเราพูดอีก สิ่งที่พูดต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นความจริง เป็นกลางๆ ที่ทุกคนหยิบไปใช้ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับงานเฉพาะด้าน ก็ต้องเชี่ยวชาญจริงๆ จึงจะสามารถถ่ายทอดและพูดออกมาได้

ถ้าอะไรที่ไม่มั่นใจก็อย่าพึ่งพูดออกไป จะเสียทั้งคนพูดและคนฟัง

ปฏิบัติแบบเซน








คำที่มักใช้ในการปฏิบัติแบบเซนจากการสังเกตของข้าพเจ้าที่ได้พาเด็กๆไปร่วมปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านพลัม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เท่าที่ได้ฟังและรู้สึกว่าคำแต่ละคำมีความหมาย เช่น อยู่กับลมหายใจ เข้าออก มีสติ ตื่นรู้ มีความสุข ปล่อยวาง เป็นอิสระ เป็นเพื่อนกัน เบิกบาน(กับทุกกิจกรรม การเดิน การนั่ง การเป็นอยู่) ดูแลกันและกัน ธรรมชาติคือเรา เราคือธรรมชาติ เป็นสิ่งเดียวกัน
ซึ่งข้าพเจ้าจะตีความตามที่เข้าใจและอ้างอิงแนวปฏิบัติที่ได้สัมผัส ในครั้งต่อไป

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อดทน และทนอด (Patience)


ความอดทนของเราต้องให้ถึงที่สุดในขณะที่เรายังอยู่ในโลกมนุษย์นี้ บางทีเราเห็นบางคนที่อดทนน้อยมาก(หรือแม้แต่เราบางครั้งตอนที่เราหลงตัวเอง) ถูกอะไรกระทบก็ไม่สามารถต้านทานไว้ได้ จิตใจอ่อนแอ ใฝ่หาที่สบายและชอบคำเยินยอเท่านั้น เมื่อเจอเหตุการณ์หรือคำพูดที่คิดว่าเขาว่าตัวเองก็ใจแฟบลง ห่อเหี่ยวไม่มีแรง ไม่มีกำลังใจ จนกระทั่งทำให้ร่างกายเราป่วยเพราะคิดว่าไม่มีใครรักตัวเอง ไม่มีใครให้โอกาสตัวเอง คิดว่าตัวเองฉลาดมาก เลยไม่ยอมให้ใครว่าหรือแม้กระทั่งการบอกสอน กลายเป็นคนหยิบโหย่งทำอะไรมากก็ไม่สบาย ไม่พอใจก็โทษคนที่ทำให้ตัวเองเสียใจ โทษคนที่เราคิดว่าเขาว่าเรา โทษสิ่งนั้นสิ่งนี้เรื่อยไป แต่ไม่เคยโทษตัวเอง พูดเล่าต่อโดยไม่สร้างสรรค์ปัญญา ทำให้คนโง่ก็ต้องโง่ลงไปอีกที่เชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง เป็นมนุษย์นี้ไม่สิ้นคนอื่นนินทา ถ้าอยากให้คนอื่นชมอย่างเดียว ก็เหมือนสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะถ้าเรามีชีวิตเรามีประสาทสัมผัส เราย่อมได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้เห็น ได้สัมผัส เป็นธรรมชาติอย่างนั้น ดังนั้นเราจะได้ยิน ได้สัมผัส ได้รับทั้งสิ่งที่ถูกใจ และไม่ถูกใจเรา กายนี้ไม่ใช่ของเรา ใจเราหลงว่านี่คือตัวเรา ประสาทเรารับรู้แล้วปรุงแต่งว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใจรับอารมณ์ที่ทำให้เราดีใจ อารมณ์เสียใจ ดังนั้นเราต้องหมั่นเจริญสติว่า เสียงก็เป็นส่วนเสียง รูปที่เห็นก็เป็นรูปอยู่อย่างนั้น เราแค่รู้ และวางให้เป็น ว่าสิ่งที่เห็นและได้ยินมันเป็นอยู่เช่นนั้นเอง