วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตัวตน

วัยเด็ก เรามักจะเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเราก็ขอพ่อแม่ ถ้าเขาไม่ให้ก็ร้องไห้ หรืองอน ไม่กินข้าว หรือมีปฏิกิริยาที่แสดงว่าไม่พอใจนะ บางครั้งถึงกับไปเล่นที่ไกลๆ คนเดียวให้พ่อแม่ตามหาเสียวุ่นวาย วัยรุ่น เรามีความฝันของตนเอง บางคนอยากจะอ่านหนังสือ เพราะหนังสืออาจจะเป็นสิ่งที่จะทำให้เรามีความรู้ และเข้าใจอะไรมากขึ้น หนังสืออาจจะช่วยเราให้ได้ไปอยู่ที่อื่น ที่ที่ไม่มีเสียงของคนในบ้านบ่น และเห็นสิ่งเดิมๆ ในบ้าน ท้าทายให้เราอยากออกไปสู่โลกกว้าง ออกจากอ้อมอกของพ่อแม่ และอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เราอยากรู้เพิ่มเติม เราอยากรู้นั่น รู้นี่มากมาย เงิน เป็นสิ่งที่ดูเหมือนความฝันตอนที่เราพร้อมที่จะทำงาน เราอาจคิดว่าทำงานเพื่อเงิน จะได้ช่วยตัวเองและคนอื่นด้วย และคิดว่าเงินจะทำให้เรามีความสุข คนอื่นก็มีความสุข อารมณ์ พอใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบ ชอบ สุข ทุกข์ อารมณ์ต่างๆ ผุดขึ้นมาเมื่ออยู่ใน โลกและอยู่ร่วมกับคนอื่น เราคิดแต่เพียงฝ่ายเดียวว่า เขาช่างเป็น คนที่แย่ ไม่น่ารัก ไม่อยากคุยด้วยเลย เวลาของชีวิต เวลาชีวิตได้บอกเราว่า ทุกอย่างที่มากระทบเรา มันอยู่ที่ความคิดของเรา ไม่ใช่อยู่ที่คนนั้น คนนี้ คนโน้น หรือสิ่งนั้น สิ่งนี้ สิ่งโน้น มันอยู่ที่ใจเรา ความคิดของเราทั้งหมด ถ้าเราจะไม่เอามาใส่ใจก็ได้ เราจะไม่โกรธ ถ้าเราจะช่วยเปลี่ยนแปลงเขาก็ได้ ถ้าคิดว่าเขาพร้อมที่จะเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับพลังของเรา ความพยายามของเรา ว่าจะทำให้เขาเปลี่ยนได้หรือไม่ เราปรารถนาดีต่อเขาจริงๆหรือเปล่า เจ็บป่วย ไม่มีใครจะไม่เจ็บป่วย แต่พลังใจสำคัญที่สุด ถ้าเราคิดว่าเราเจ็บมาก เราก็จะเจ็บมากๆ ถ้าเราคิดว่าเราเจ็บ แต่เราทนได้ เราก็จะทน และไม่เจ็บ หรือหายเจ็บ ฟัง อ่าน และเวลาชีวิต เมื่อได้ฟัง อ่าน และเวลาชีวิตผ่านไป โดยเรียนรู้ผ่านสมองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมนุษย์มีสมองที่พิเศษ เหนือสัตว์ใดๆ เราไม่ได้เป็นอย่างนี้ ทุกข์อย่างนี้ เจ็บอย่างนี้ เพียงคนเดียว แต่มีเพื่อนร่วม ทุกข์ เจ็บ และตายเหมือนเรา เขาก็อยากมีความสุขเหมือนเรา เราจะมีวิธีบอกให้เขาคลายทุกข์ คลายโศก และลุกขึ้นมาสู้ชีวิต ทำสิ่งที่สร้างสรรค์ ก็ขึ้นอยู่กับเราอีกเช่นกัน ว่าเรามีพลังแค่ไหน ร่างกายและจิตใจ เวลาชีวิตได้บอกเราว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา เพราะสักวันเขาก็จะไปจากเรา เราก็แค่บำรุงให้เราได้อยู่สร้างประโยชน์เท่านั้น แม้แต่ใจของเราก็ยังจะไม่ใช่ของเรา เพราะใจมักจะไปรับทุกข์ รับสุขมา บอกไม่ให้ทุกข์ มันก็ยังทุกข์ เครียด ใจเสวยอารมณ์ทุกข์ เป็นเหตุให้กายก็ทุกข์ เจ็บป่วย นอนไม่หลับ ใจเรามักจะมองออกไปข้างนอก ไม่มองมายังตัวเอง ไปรับอารมณ์ข้างนอก เรียกว่าสติไม่อยู่กับตัวเอง ถ้าสติอยู่กับตัวเอง อยู่กับกายและใจนี้ ความทุกข์เราจะน้อยลง ความฟุ้งซ่านจะน้อยลง อิจฉา อยากได้เงิน โกรธ จะลดลง เพราะคิดเมื่อไหร่ อารมณ์มากระทบเมื่อไหร่ เราจะรู้และให้มันวางทันที ไม่ยอมให้ใจเสวยอารมณ์เด็ดขาด แม้กระทั่งอารมณ์สุขก็ตาม เพราะจะทำให้ใจติดสุข ถ้าใจติดสุข เมื่อเวลามีทุกข์ เราก็ตายเมื่อนั้น เวลาที่เหลือ เรารู้แล้วว่ากายไม่ใช่ของเรา ตัวตนเราไม่มี ใช่ว่าเราจะอยู่ให้กายแตกดับไปเฉยๆ ก็ไม่ใช่ เราจะอยู่เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์คนอื่น ถ้าเพื่อประโยชน์คนอื่น อะไรที่เราจะทำเพื่อประโยชน์คนอื่น เวลาชีวิตของแต่ละคน คงจะตอบคำถามของตนเองได้

มนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกปัจจุบันควรเป็นอย่างไร

โลกในปัจจุบัน ในยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีและสิ่งที่ทันสมัยต่างๆ ถูกพัฒนาให้มีศักยภาพในการใช้งาน มีการสื่อสารในระดับนานาชาติมากขึ้น และเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ แต่ต้องแลกด้วยทรัพยากรอันมีค่าของโลก แร่ธาตุที่ขุดค้นมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ พลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ ซึ่งเราใช้ไปทุกวัน ทุกวัน ก็จะหมดไปในไม่ช้านี้ โลกเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศปกคลุมโลกมากเกินไป ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่สามารถสะท้อนออกไปนอกโลกได้ อุณหภูมิโลกจึงสูงขึ้น ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนหนึ่งมาจากการเผาผลาญพลังงานที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ พืชที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงก็ลดน้อยลง ดังนั้นความสมดุลของคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเราจึงมีน้อยลงเช่นกัน และภัยธรรมชาติก็เกิดขึ้นรุนแรงมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่และชีวิตมนุษย์ ยกตัวอย่างสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2548 นอกจากนี้อิทธิพลจากยุคข้อมูลข่าวสาร มนุษย์เสพสื่อประเภทต่างๆ ที่มีมากเกินไป มีรายงานของเด็กไทยที่เสพสื่อต่างๆ ของหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30-6 ธ.ค.50 เด็กไทยใช้เวลาเสพสื่อ วัน 7 ชั่วโมง TV 3-6 ชั่วโมง อินเตอร์เน็ตวันละ 1-2 ชั่วโมง โทรศัพท์วันละ 1 ชั่วโมง 3 ใน 10 นัดพบกับทางอินเตอร์เน็ต 1 ใน 3 ของจำนวนนี้มีเพศสัมพันธ์ และนอกจากนี้มนุษย์ยังเปลี่ยนจากสังคมที่พึ่งพาอาศัยกัน เป็นสังคมที่มีการแข่งขันกันแทนที่จะเป็นการพึ่งพา มีการแก่งแย่งทั้งสมบัติ เกียรติ ความรัก ความเป็นที่หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และระหว่างประเทศ แล้วมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกปัจจุบันควรเป็นอย่างไร ในมุมมองของการศึกษา โรงเรียนจะต้องทำอย่างไรเพื่อสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของโลกในปัจจุบัน และในระดับครอบครัวจะต้องทำอย่างไรบ้างให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกปัจจุบันควรเป็นอย่างไร มนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมทั้งพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มนุษย์เกื้อหนุนต่อสัตว์ พืช และสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย สัตว์ก็ต้องพึ่งพามนุษย์ พืช และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พืชก็ยังต้องพึ่งสัตว์รวมทั้งมนุษย์ ดวงอาทิตย์ และสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพื่อการดำรงชีวิต และที่สำคัญมนุษย์ก็ต้องเกื้อหนุนมนุษย์ด้วยกันเอง สงครามและการสู้รบกันแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีการแข่งขันชิงความเป็นผู้ชนะและชิงความมีอำนาจ ยึดตัวเองเป็นใหญ่และคิดว่าตนเองเก่ง สร้างประโยชน์ส่วนตนและเกิดความเสียหายให้กับส่วนรวมทั่วโลก เมื่อมองเฉพาะในองค์กรซึ่งเป็นที่ทำงานของคนหลายคนเพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรนั้นประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คนที่ทำงานร่วมกันจะต้องมีพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และที่สำคัญมีกรอบความคิดเชิงอนาคต(vision) เป็นไปในทางบวกที่สร้างสรรค์ เป็นผู้นำในอนาคต ไม่มองแต่ผลประโยชน์ของตนแต่มองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ครอบครัว โรงเรียนแห่งแรกของลูก

มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แม่ซึ่งเลี้ยงลูกและให้นมลูกกินจะรู้สึกผูกพัน เป็นห่วง หวงแหน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับสัตว์อื่นๆ ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ช้างก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ลูกกับแม่มีความรักและผูกพันกันอย่างแนบแน่น แม่ช้างและลูกช้างจะอยู่ไม่ห่างกัน แม่ช้างจะแสดงความรัก ห่วงใย ดูแลลูกไม่ให้ห่างไปไหนเลย ความรู้สึกผูกพัน อบอุ่น ไว้วางใจ ในครอบครัว เป็นความรู้สึกที่ทำให้ลูกพัฒนาเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าในอนาคตได้ ยิ่งพ่อแม่ให้ความหวัง จุดประกายไปในทางบวก ให้เป็นคนดี เชื่อว่าลูกจะทำได้ ยิ่งสร้างความมั่นใจให้ลูกในการก้าวเดินออกสู่สังคมภายนอก พ่อแม่ ไม่สามารถดูแลปกป้องลูกไปตลอดชีวิตของลูกได้ แต่พ่อแม่ ให้ความไว้วางใจ ให้ลูกเรียนรู้ในการช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือคนอื่นๆ และเป็นกำลังใจและให้ความหวังในสิ่งที่เป็นบวกและสร้างสรรค์กับลูก เมื่อลูกทำผิดก็เพียงตักเตือนไม่ดุด่า จะทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตที่เป็นบวกในสังคมได้ ความรัก ความไว้วางใจ ความอบอุ่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สามารถให้และแสดงกับลูกได้ การกอด การสัมผัส การพูดด้วยเสียงเบาและท่าทีอบอุ่น เป็นลักษณะที่แม่ควรจะแสดงออกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก แม่ที่ทอดทิ้งลูก พูดด้วยเสียงดัง ข่มขู่ลูก ควรจะอายสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ที่เขาไม่เคยแสดงอาการอย่างนั้นกับลูกเลย เงินเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตในยุคนี้ แต่เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่จะยัดเยียดข้อมูลว่าลูกต้องไปหาเงินอย่างเดียว แต่การดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเองและคนอื่นๆ ในวงกว้าง นั่นคือสิ่งที่ครอบครัวจะหล่อหลอมลูกของตน การที่พ่อแม่สอนลูกว่าโตขึ้นจะต้องไปทำมาหาเงินมาเลี้ยงชีพ นั่นทำให้ลูกมองโลกแคบและมองชีวิตเพื่อเงินอย่างเดียว และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ลูกจึงจะเข้าใจว่าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกนาน

โรงเรียนแห่งแรกของเด็ก

โรงเรียนที่สำคัญแห่งแรกของลูกคือครอบครัว ความรักเป็นสิ่งที่ลูกทุกคนต้องการ และเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ ลูกพร้อมที่จะเรียนรู้เมื่อสัมผัสได้ว่าได้รับความรักอย่างเต็มที่ เมื่อมีความรัก ความไว้วางใจ ความเข้าใจ การพูดคุยอย่างเปิดเผยก็จะตามมา พ่อแม่ควรสร้างแบบแผนการเลี้ยงลูกอย่างเป็นกันเอง ที่ไม่ใช่แบบพ่อแม่บังคับ หรือแบบตามใจให้ลูกมีอิทธิพลเหนือตนเอง พ่อแม่คือแบบอย่างที่ลูกสัมผัส รับรู้อยู่ทุกวัน อย่าลืมว่าทุกคำพูด การกระทำทุกอย่างลูกเรียนรู้มาจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นผู้ชี้นำความหวัง ความปรารถนาดีที่ตนเองมีต่อลูก ลูกเรียนรู้ว่าพ่อแม่มีความหวังและความปรารถนาดีอะไรกับเรา ลูกก็จะพยายามทำสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความหวังและความปรารถนาดีของพ่อแม่ สิ่งที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึงในการเลี้ยงดูลูกที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีในหลักสูตรผู้ปกครอง ที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึง คือ จิตวิทยามนุษย์ ดังนี้ จิตวิทยามนุษย์ *ไม่ใช้การเปรียบเทียบ เช่น เปรียบเทียบว่าลูกคนอื่นเก่งกว่าลูกตนเอง บอกลูกว่าได้คะแนนน้อยหรือมากกว่าคนอื่น เปรียบเทียบน้องกับพี่ ซึ่งการเปรียบเทียบเป็นบ่อเกิดของความอิจฉา *ไม่ใช้คำพูดด้านลบ เช่น คำด่า คำปรามาส คำสบถ คำหยาบ *ไม่หลอกให้กลัว เช่น บอกว่าถ้าไม่ทำตำรวจจะมาจับ หลอกว่าเดี๋ยวผีจะมา *ไม่ใช้ความรุนแรง เช่น ลงโทษโดยการตี การใช้กำลังต่างๆ แต่ลงโทษด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ *ลดการให้ลูกเรียนรู้เกินวัย ไม่ว่าโรงเรียนจะพยายามพัฒนาเด็กอย่างไร ถ้าครอบครัวไม่ให้ความใส่ใจในการพัฒนาลูกของตน ปล่อยปละละเลยแม้เพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆ ไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาลูกในด้านต่างๆ ร่วมกับโรงเรียน ชีวิตทั้งชีวิตของลูกเราจะเป็นอย่างไร ดังนั้น โรงเรียนแห่งแรกของลูกเราคือครอบครัวซึ่งพ่อแม่จะต้องเป็นเบ้าหลอมชีวิตและพัฒนาลูกให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดในแบบอย่างที่เขาควรจะเป็น ความไว้วางใจในครอบครัว พ่อแม่ต้องเชื่อว่าลูกทำได้และรู้จักลูกให้ดีทุกแง่มุม และให้โอกาสเขาแสดงในสิ่งที่เขาเป็น เลือกในสิ่งที่เขาเลือก บางครั้งพ่อแม่ก็อยู่ห่างๆ ลูกบ้าง ให้ลูกมีอิสระ แน่นอนเมื่อลูกทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรพ่อแม่ก็ต้องบอกต้องสอน และมีข้อตกลงร่วมกัน เช่น เวลาเล่นควรจะเป็นเวลาไหนบ้าง งานที่ต้องรับผิดชอบต้องทำอะไรบ้าง ถ้าทำไม่เสร็จจะมีผลต่อตัวเขาอย่างไร และควรให้ลูกได้รับความลำบากบ้าง ได้รับบทเรียนที่หนัก ได้ทำงานหนัก ถ้าจะให้ดี ให้เขามีโอกาสในการหาเงินเป็นค่าขนม และสนับสนุนเขาเต็มที่ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสมองส่วนที่ต้องเอาตัวรอด ถ้าหิวก็จะต้องหาของมากินเพื่อความอยู่รอด และมนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่เป็นกลุ่ม ดังนั้นเวลาที่เด็กไปอยู่ที่อื่นที่ห่างจากพ่อแม่เขาก็จะเรียนรู้ที่จะหากินได้ เรียนรู้ที่จะเข้ากับคนอื่น เรียนรู้ที่จะมีเพื่อนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พ่อแม่ไปต้องห่วงเลยเมื่อเขาออกจากอ้อมอกเขาแล้ว พ่อแม่ไม่สามารถที่จะตามไปดูแลเขาได้ในทุกที่ สักวันหนึ่งเขาต้องไปจากเรา หรือเราอาจจะได้ไปจากเขาก่อน ดังนั้น ภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งที่เราควรสร้างคือความไว้วางใจ และให้โอกาสเขาต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เขาได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง อาจดุด่าเฆี่ยนตีลูกโดยไม่ใช้เหตุผลอธิบาย หรือพ่อแม่ทะเลาะกันให้ลูกเห็น ลูกอาจจะมีปมบางอย่างที่แก้ไขได้ยาก และอาจมีผลต่อเขาในอนาคตได้ พระเอกนางเอกของลูกคือพ่อแม่ เพราะลูกเห็นพ่อแม่เป็นคนแรก ลูกเรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่เป็น แนวความคิด วาจา การพูด ท่าที ทุกสิ่งทุกอย่างลูกเรียนรู้มาจากพ่อแม่ ลูกซึมซับจากพ่อแม่มากถึง 90 % จะกล่าวตัวอย่างง่ายๆ เช่น พ่อแม่เป็นคนพูดน้อย ลูกก็เป็นคนพูดน้อยด้วย พ่อแม่เป็นคนพูดสนุกสนาน อารมณ์ดี ลูกก็จะซึมซับสิ่งนั้นมาจากพ่อแม่ หรือพ่อแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ โมโหง่าย ลูกเราก็จะเป็นแบบนั้นด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าพ่อกับแม่จึงเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญสำหรับลูก เป็นพระเอกนางเอกที่ลูกจะเอาแบบอย่างและเรียนรู้ด้วย ดังนั้น พ่อแม่ต้องตระหนักเสมอว่าเราเป็นอย่างไร ลูกเราก็จะเป็นอย่างนั้น พ่อแม่ต้องสร้างเสริมเพิ่มเติมสนับสนุนให้กับลูก อย่างที่กล่าวแล้วว่าพ่อแม่เป็นพระเอกนางเอกของลูก ดังนั้นลูกจะซึมซับ เรียนรู้สิ่งที่พ่อแม่เป็น แต่ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างคือ พ่อแม่ต้องคิดที่จะส่งเสริมสนับสนุนสิ่งที่ลูกควรจะได้รับการสนับสนุนตามความเหมาะสมและเป็นไปในทางสร้างสรรค์ เช่น ลูกอยากเรียนดนตรี และเราสามารถสร้างโอกาสนั้นได้ก็ควรจะเปิดโอกาสให้เขาได้เรียน เพราะถ้าเกิดจากความอยากของลูก เขาจะทำได้ดี พ่อแม่ควรหาจังหวะและโอกาสที่จะถามลูกว่าลูกอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หรือช่วยแนะนำลูก ถ้าลูกเห็นว่าสิ่งที่พ่อแม่แนะนำนั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวเขา แล้วเขาอยากเรียนก็ควรจะส่งเสริม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกิจกรรมที่จะส่งเสริมพัฒนาลูกนั้นต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์ และไม่ใช่การบังคับ พ่อแม่ไม่ลำบากเกินไปที่จะให้ลูกทำกิจกรรมนั้น และต้องเกิดจากความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีตัวอย่างที่การทำกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนนั้นเกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่ ทำให้ลูกเสียความรู้สึกดีๆ ทั้งที่กิจกรรมนั้นไม่เสียหายอะไร มีครั้งหนึ่งที่ตอนอยู่ม.5 เราอยากสอบเอนทรานซ์ แต่เรียนรู้วิชาฟิสิกส์ไม่เข้าใจเลย จึงอยากจะเรียนฟิสิกส์เพิ่มเติม ซึ่งอาจารย์ที่สอนก็เป็นครูในโรงเรียนตนเอง และอาจารย์ก็ไม่ได้คิดเงินอะไรมากมาย แต่แม่ไม่อยากให้เรียนคิดว่าเราเห่อตามเพื่อนเป็นการสิ้นเปลืองเปล่าๆ ซึ่งแม่ก็ไม่เคยถามเลยว่าต้องเสียค่าเรียนเท่าไหร่ และไม่ทำความเข้าใจว่าเรียนเพราะอะไร ทำให้เราต้องถอนตัวเพราะแม่ไม่สนับสนุน และตอนจะสอบนั้นเราก็ไม่สนใจจะอ่านวิชานี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันยากมาก นี่เกิดจากความไม่เข้าใจกันของลูกกับพ่อแม่ ถ้าจะไม่สนับสนุนพ่อแม่ควรถามและบอกเหตุผล จะเป็นการถนอมใจของลูกด้วย พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจจุดด้อยของลูก แน่นอนที่พ่อแม่ต้องรักลูก บางครั้งลูกทำผิดก็ให้อภัยเพราะความความรักที่มีต่อลูก แต่พ่อแม่ควรยอมรับว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีทั้งจุดดี และจุดด้อย พ่อแม่ควรจะเป็นผู้รู้และเข้าใจว่าลูกตนเองมีจุดด้อยอะไรบ้าง และหาวิธีการแก้ไข โดยเฉพาะจุดด้อยของลูกที่มีผลเสียต่อตัวเขาและผู้อื่น เช่น ชอบลักขโมย ชอบโกหก ชอบทะเลาะกับคนอื่น มองเรื่องของตนเองสำคัญมากกว่าเรื่องของคนอื่น เอาแต่ใจตัวเอง และบางอย่างเช่นลูกไม่ถนัดวิชาการแต่ชอบงานศิลปะ พ่อแม่ควรเข้าใจและหาวิธีการแก้ไขพัฒนา ควรคิดกลยุทธ์ที่จะปรับนิสัยของลูก และส่งเสริมลูก ทั้งนี้พ่อแม่ต้องพูดคุยกับครูที่สอนเพื่อหาทางแก้ไขให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันจึงจะได้ผลดีที่สุด

ครูผู้มีจิตใหญ่

ครูผู้มีจิตที่ใหญ่ จิตที่ใหญ่ จิตใหญ่ เป็นจิตที่มีพลังสร้างสรรค์ในทางบวก ไม่ใช่แค่เพื่อตนเอง แต่เพื่อคนอื่นด้วย เพื่อประโยชน์โดยรวมต่อสังคม คนที่มีจิตแคบ มักจะคิดถึงแต่เรื่องของตน คิด หา แต่ให้พอสำหรับครอบครัวตน การที่จะทำเพื่อคนอื่น ยากมากๆ เขาจะทำเพื่อคนอื่นได้ เมื่อเขารู้สึกพอแล้ว ถ้ายังรู้สึกว่าตนเอง ยากจน ลำบากอยู่ เขาจะไม่สามารถขยายจิตให้ใหญ่พอ เพื่อที่จะเผื่อแผ่คนอื่นได้ ยกตัวอย่างของตัวเอง ถ้าสมมุติเราเรียนจบพร้อมที่จะทำงานแล้ว บ้านที่พ่อแม่อยู่เก่ามากแล้ว เสาไม้บางอันก็เอนเอียง ไม่รู้วันไหนมันจะพาบ้านพังไปทั้งหลัง เราก็จำเป็นต้องช่วยเขา เพราะเราเป็นพี่ และได้ทำงานแล้ว ในขณะเดียวกันน้องก็กำลังเรียนอยู่ตั้งสองคน เราจำเป็นต้องสร้างบ้านหลังใหม่ ไม่มีเงินสดก็ต้องกู้ น้องที่เรียนก็ต้องใช้เงิน ลำพังตัวเองเหลือเงินใช้ไม่กี่บาท แต่ต้องยอมทำ เพราะ ถ้าเราไม่ช่วยเขา แล้วจะรอให้ใครช่วย แม้ว่าตนเองจะฝืดเคืองจนต้องอดอาหารเย็น บางวันต้องเก็บเศษเงินเหรียญบาทมาเพื่อซื้ออาหาร แล้วอย่างนี้เราจะมีจิตใจไปช่วยคนอื่น คงยาก ครู ต้องมีจิตที่ใหญ่ การจะให้ครูคิดเพื่อส่วนรวมได้ ต้องใช้เวลา ครูบางคนพร้อมเร็ว ครูบางคนก็คิดเรื่องของครอบครัวตนเองอยู่เสมอ ช่วงเวลาที่เราเป็นครู เป็นโอกาสที่ดีมาก เป็นช่วงเวลาที่เราเปิดจิตของครูให้กว้างออก เป็นการฝึกทั้งทางกาย การพูด และตัวตนด้านใน หรือจิต ซึ่งมีกระบวนการดังจะแลกเปลี่ยนในตอนต่อไปนี้

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

ครูคือแรงบันดาลใจ

เราเข้าโรงเรียนมาตั้งแต่วัยเด็ก แน่นอนว่าเด็กๆ ทุกคนเวลามาโรงเรียน เราต้องได้ปฏิสัมพันธ์กับครู ครูคือพ่อแม่คนที่สองของเรา คือคือผู้ที่แนะนำและให้โอกาสเรา ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือของนายแพทย์วิจารย์ พานิช ที่พยายามทำโครงการและให้แนวคิดในการพัฒนาและกระตุ้นให้ครูทำเพื่อลูกศิษย์ ไม่ใช่ให้ครูทำเพื่อตนเอง บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าได้ยินบางคนบอกว่าครูดุ ครูใจร้าย ครูตี ครูสอนไม่รู้เรื่อง ครูไม่เข้าห้องเรียน ครูอย่างนั้นอย่างนี้ มีแต่เรื่องไม่ดี แต่ชีวิตของข้าพเจ้า เต็มไปด้วยบุคคลที่เป็นครูที่ทำเพื่อลูกศิษย์จริงๆ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครูเป็นอย่างที่คนอื่นว่า ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครูคนไหนในโรงเรียนที่ดุด่านักเรียน(หรือเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่เคยถูกดุก็ได้) มีครั้งหนึ่งตอนที่ข้าพเจ้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนประจำอำเภอแห่งหนึ่ง ครูได้พาเด็กๆ ในโรงเรียนไปเก็บขยะในบริเวณตลาด ข้าพเจ้ากำลังก้มเก็บขยะอย่างขมักเขม้น เอาไม้เสียบลูกชิ้นที่ไม่ใช้แล้วมาเสียบขยะพลาสติกทีละชิ้น ทีละชิ้น จนเต็มไม้ เมื่อเต็มไม้แล้วก็เอาไปทิ้งในถุงขยะรวมที่ครูเตรียมไว้ให้ แล้วข้าพเจ้าก็มาเก็บขยะต่อโดยที่ไม่สนใจใคร มีครูผู้ชายคนหนึ่ง ดูท่าทางใจดี ครูคนนี้ไม่เคยสอนข้าพเจ้าเลย ท่านเดินมาแล้วก็ยื่นขนมในมือให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าดีใจมาก จำไม่ได้ว่าท่านพูดอะไร แต่ข้าพเจ้าจำท่านได้จนกระทั่งวันนี้ และครูท่านนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าไม่อิดออดที่จะก้มลงเก็บขยะเมื่อเห็นขยะอยู่ข้างทาง ข้าพเจ้ารู้ว่าครูในโรงเรียนระดับประถมที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่นี้ให้โอกาสข้าพเจ้าให้ได้รับทุนการศึกษาถึงสองครั้ง ครั้งหนึ่งตอนอยู่ประถมศึกษาปีที่ ๓ และอีกครั้งตอนที่โรงเรียนจัดมอบวุฒิบัตรตอนเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนเชิญผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่ง มามอบทุนการศึกษา ข้าพเจ้าก็ได้รับทุนนั้น ถึงจะมีจำนวนไม่มาก แต่มันมากสำหรับข้าพเจ้าที่จะหาเงินนั้นได้เองในวัยเด็ก เมื่อเสร็จพิธีแล้วข้าพเจ้ามาถามครูประจำชั้นซึ่งท่านเป็นครูผู้หญิงว่า "ครูคะ เงินจำนวนนี้หนูควรจะเอาไปใช้ทำอะไรดี?" ครูท่านนั้นตอบว่า "เอาไว้ใช้เรียนต่อซิ" ตอนนั้นข้าพเจ้าไม่คิดเลยว่าจะเรียนต่อ เพราะพี่ๆ ของข้าพเจ้าทั้งสามคน เขาไม่ได้เรียนต่อ และในช่วงนั้นเป็นปีที่แล้งติดต่อกัน ชาวบ้านไม่สามารถทำนาได้เลย คนที่เรียนจบป.๖ มักจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ ข้าพเจ้าก็อยากไปกรุงเทพฯ กับเขาด้วย แต่ด้วยคำพูดของครู และผู้ใหญ่ใจดีคนนั้นให้ทุนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็เลยขอแม่เรียนต่อระดับชั้นมัธยม ซึ่งท่านก็บ่นก่อน แต่ท่านก็ยอมให้เรียนเพราะเห็นเราตั้งใจมาก เมื่อเรียนมาจนกระทั่งมัธยมปลาย ข้าพเจ้าก็ภาคภูมิใจในการเป็นนักเรียนที่นี่ ครูที่นี่ก็ไม่เคยดุและให้โอกาสข้าพเจ้าเสมอ ให้โอกาสในการไปเรียนรู้การเกษตรกับโรงเรียนอื่นตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และมีครูผู้ชายคนหนึ่งสอนภาษาอังกฤษชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งครูสอนไม่เบื่อเลยและเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าทำกิจกรรมอื่นๆ ในโรงเรียน จนเป็นผลให้ข้าพเจ้ามีพื้นฐานภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อเรียนชั้นมัธยมปลายตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ จะมีวิชาหนึี่งคือวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องเรียนสัปดาห์ละ ๑ ชั่วโมง ข้าพเจ้าก็ชอบมากเพราะครูใจดี ให้หนังสือข้าพเจ้าอ่านเกี่ยวกับมงคลชีวิต และหนังสือธรรมะอีกประมาณ ๒-๓ เล่ม และให้โอกาสในการไปทดสอบเหมือนแข่งขันกับโรงเรียนอื่น ข้าพเจ้าอ่านเล่มเดิมตั้งแต่ ม.๔- ม.๖ จนกระทั่งจำได้ทุกหน้ามีหรือที่ข้าพเจ้าจะทำข้อสอบไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าอ่านเล่มเดิมมา ๓ ปีนึกภาพถึงแต่ละหน้าในหนังสือก็ยังได้ อีกเหตุการณ์ที่สำคัญ ครูท่านนี้ได้แนะนำให้ข้าพเจ้าไปสนทนาธรรมกับหลวงปู่ที่อยู่ในวัดป่าที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านข้าพเจ้านัก บางครั้งถ้าท่านจะไปกับเพื่อนครูคนอื่นๆ ที่มีรถยนต์ ครูท่านนี้ก็จะชวนข้าพเจ้าไปด้วยทุกครั้ง และก็จะมีเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันไปด้วย จนสุดท้ายหลังจากเรียนจบชั้น ม.๖ แล้ว หลวงปู่ก็จัดปฏิบัติธรรมในวัดครั้งแรก ข้าพเจ้าเป็นคนเดียวในกลุ่มเพื่อนที่ได้ไปปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ เพราะเพื่อนยังหาที่เรียนไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าทราบผลสอบมหาวิทยาลัยและรู้ที่เรียนแล้วก่อนปิดเรียน ข้าพเจ้าจึงสมองปรอดโปร่งตั้งใจปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์สอนทุกประการ โดยกิจก็คือ ตื่นตี ๔ สวดมนต์ เดินจงกรม ฉันมื้อเดียว เรียนการภาวนา ฟังธรรม โดยที่พระอาจารย์สองท่านเป็นคนสอน เมื่อพระอาจารย์เห็นว่าทุกคนที่มาครั้งนี้มีกำลังในการปฏิบัติพอสมควรก็ให้ออกเดินจาริก ช่วงนั้นเป็นเดือนเมษายน แดดร้อนมากๆ ครูท่านนี้ท่านก็ช่วยประสานงานตามสถานที่ที่จะไปพักตอนกลางคืน ครูไม่เดิน เพราะครูก็อายุใกล้วัยเกษียณ ข้าพเจ้าเรียนรู้การนั่งสมาธิ จิตสงบ ข้าพเจ้าเพิ่งเข้าใจคำว่า "ความสุขเสมอด้วยความสงบไม่มี" ก็ตอนที่ได้ไปปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ฝึกความอดทนอย่างมาก เพราะเดินตากแดดตลอดทั้งวัน แต่ความสงบก็ไม่ทำให้คนที่ร่วมเดินในครั้งนั้น เป็นอะไรแม้แต่คนเดียว พลังกองทัพธรรม เดินไปอย่างเชื่องช้าและมุ่งมั่น บางวันเดินจนตัวเบา เดินจนไม่อยากหยุด ใช้เวลาทั้งหมด ๑๔ วัน ก็เดินมาถึงวัดเหมือนเดิม เนื้อตัวข้าพเจ้าเกรียมไหม้ หนังกำพร้าลอกคราบออกมาเลยหลังจากกลับวัดได้ ๒ วัน แต่ข้าพเจ้าซาบซึ้งถึงคุณค่าการเรียนรู้สัจธรรมถึงแม้จะไม่เข้าใจอะไรนอกจากความสงบ กล้าหาญในการเรียนรู้ธรรมมากขึ้น หลังจากแยกย้ายไปเรียนแล้วข้าพเจ้าก็ยังไปเยี่ยมครูท่านนี้ ครูที่ท่านได้พาข้าพเจ้าเดินทางสู่การเรียนรู้สัจธรรมที่มีค่ายิ่งสำหรับความเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าจึงเคารพครูท่านนี้มาก ท่านยังนำเรื่องของข้าพเจ้าลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นบทความเกี่ยวกับการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์ และข้าพเจ้ายังคำนึงถึงครูในระบบการศึกษาท่านนี้ ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าปฏิบัติกับศิษย์ ดังที่ท่านได้ปฏิบัติกับศิษย์ทุกคนด้วยเมตตาธรรม อันเป็นธรรมอันประเสริฐที่มนุษย์พึงจะมีสำหรับมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นแม้ใครจะพูดอย่างไรว่าครูที่สอนในระบบไม่ได้เรื่อง แต่ครูในระบบทุกคนของข้าพเจ้าเป็นคนวางพื้นฐานในทุกๆ ด้าน ท่านเป็นบันไดขั้นแรกๆ และขั้นต่อๆ ไปให้ข้าพเจ้า แม้ท่านจะไม่ใช่บันไดขั้นสุดท้าย แต่ข้าพเจ้าเชื่อในพลังของท่านที่จะส่งลูกศิษย์ไปให้ไกลเท่าที่ลูกศิษย์จะเป็นได้ บันไดขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับเรามากกว่า ว่าเราจะเอื้อมหรือไม่เอื้อมให้ถึงฝั่งเท่านั้นเอง